การปฏิเสธการเดินทางของผู้โดยสาร
โดยหลักการแล้ว สิทธิในการเดินทางเป็นของผู้โดยสารอยู่แล้วครับ
ดังนั้นผู้โดยสารสามารถตัดสินใจที่จะขอไม่เดินทางได้ ไม่ว่าจะช่วงเวลาไหนก็ตาม (ยกเว้น กรุณาอ่านต่อไป)
เช่น การขอยกเลิกการเดินทางหลังจากเช็คอินแล้ว หรือแม้กระทั่งเดินเข้าไปนั่งในเครื่องบินแล้วเกิดมีความไม่สบายใจ มีเรื่องด่วน หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นเหตุ
ก็ยังขอแจ้งยกเลิกการเดินทางได้ (ถึงตรงนี้ ต้องอ่านให้จบนะ)
แต่มีข้อแม้อยู่ว่า หากประตูเครื่องบินปิดและเครื่องบินดันถอยหลังไปแล้ว
หรือเครื่องบินเริ่มเคลื่อนที่เพื่อที่จะเตรียมตัวไป takeoff แล้วนั้น
ขณะนี้ถือว่าเที่ยวบินเริ่มต้นการเดินทางแล้วครับ
Flight phase เริ่มต้นที่ aircraft taxi by it own power
การที่จะขอลงจากเครื่องบินในช่วงเวลานี้ไม่สามารถทำได้ (ง่าย ๆ)
ที่ใส่วงเล็บว่าไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ ก็เพราะว่า ยังสามารถทำได้ แต่ต้องเป็นเหตุสุดวิสัยที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด
การยกเลิกการเดินทางในช่วงเวลาแบบนี้ทำให้เกิดผลกระทบต่อทุกคนที่อยู่บนเครื่องบิน
การที่จะนำเครื่องบินเคลื่อนกลับไปจอดที่เดิม หรือดันเครื่องบินกลับเพื่อให้ผู้โดยสารลงจากเครื่องบินนั้น
จะมีความยุ่งยากตามมาหลายประการ จึงเป็นดุลยพินิจของกัปตันที่จะพิจารณาว่า เหมาะสมที่จะดำเนินการหรือไม่ อย่างไร
อาทิเช่น ผู้โดยสารมีอาการป่วยหนักอย่างกระทันหันขึ้นมา ชักกระตุกน้ำลายฟูมปาก
แบบนี้กัปตันก็คงไม่อยากพาขึ้นไปบนฟ้าเพราะความวุ่นวายจะตามมามากกว่าหลายเท่า
ผู้โดยสารคนอื่น ๆ ก็คงต้องทำใจหากเป็นกรณีเกิดผู้ป่วยกระทันหันแบบนี้
เสมือนลงเรือ (บิน) ลำเดียวกันแล้วก็ต้องไปด้วยกันให้ได้ตลอดรอดฝั่ง
หากมีเหตุการณ์อะไรที่อาจจะกระทบความปลอดภัยโดยรวม
แบบนี้ก็ต้องตัดไฟแต่ต้นลม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบระหว่างทาง ประมาณนี้ครับ
ขอย้ำให้ชัดเจนอีกครั้งครับว่า
การตัดสินใจยกเลิกการเดินทาง หมายถึง การแจ้งให้กับสายการบินทราบถึงเจตนารมณ์ว่าจะไม่เดินทาง
ซึ่งเป็นการแจ้งให้ทราบแบบสันติวิธี จะแตกต่างจากการโวยวายหรือก่อความไม่สงบบนเที่ยวบิน
โดยเฉพาะหากเครื่องบินเริ่มดันถอยหลังหรืออยู่บนอากาศแล้ว
สถานการณ์จะกลายเป็นการก่อความไม่สงบและเป็นภัยคุกคามต่อความปลอดภัยของเที่ยวบิน
การทำการใด ๆ ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ โดยไม่มีเหตุอันควร
หรือเป็นการกระทำอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เกิด flight interuption
กรณีแบบนี้อาจถูกตีความเข้าข่ายว่าเป็น “การก่อความไม่สงบ“
จะกลายเป็นความผิดฐานมาตราต่าง ๆ ตาม พรบ.ความผิดบางประการในการเดินอากาศ
และสายการบินมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายจากผู้โดยสารคนนั้นได้ อันนี้ต้องเตือนกันเอาไว้บ่อย ๆ
กลับมาที่ การตัดสินใจยกเลิกการเดินทาง สายการบินจะมีแนวปฏิบัติแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลาครับ อาทิเช่นช่น
1.หากไม่มาเช็คอิน ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจไม่เดินทาง
อันนี้ไม่มีผลกระทบอะไร จะได้เงินคืนหรือไม่ก็ว่ากันไปแล้วแต่เงื่อนไขของตั๋วเดินทาง
2.หากเช็คอินแล้ว แต่ไม่มาแสดงตัวที่ประตูขึ้นเครื่องบิน (boarding gate) จะแบ่งเป็นสองกรณีคือ
2.1 เช็คอินโดยไม่มีกระเป๋าหรือสัมภาระโหลดใต้ท้องเครื่องบิน อันนี้ก็ตัดผู้โดยสารไปได้เลยโดยไม่ต้องทำอะไร ส่วนจะได้เงินคืนหรือไม่ก็อยู่ที่เงื่อนไขของตั๋วเดินทาง
2.2 เช็คอินโดยมีกระเป๋าหรือสัมภาระโหลดใต้ท้องเครื่องบิน กรณีนี้อาจจะทำให้เกิดความล่าช้าของเที่ยวบินได้ครับ
เพราะสายการบินจะต้องทำการค้นหากระเป๋าหรือสัมภาระใต้ท้องเครื่องบินของผู้โดยสารท่านนั้น ๆ ออกจากเครื่องบินจึงจะสามารถออกเดินทางได้
ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้เวลาหานานแค่ไหน
3.มาแสดงตัวและขึ้นนั่งอยู่บนเครื่องบินแล้ว กรณีที่ 3 นี้ ถือว่าเป็นกรณีที่ยุ่งยาก
เพราะการที่ผู้โดยสารลงจากเครื่องบินนั้น เกี่ยวข้องกับมาตรการรักษาความปลอดภัยที่จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนเพิ่มขึ้นกว่ามากกว่าแค่การนำสัมภาระออกจากใต้ท้องเครื่องบิน
แต่จะต้องพิจารณาถึงมูลเหตุและเจตนาของการปฏิเสธการเดินทางด้วย
การพิจารณาในกรณีที่ 3 จึงต้องประมวลสถานการณ์หลายอย่าง โดยคำนึงถึงมาตรการการรักษาความปลอดภัยเป็นหลัก
นั่นเป็นเพราะว่า เราไม่สามารถทราบว่าผู้โดยสาร (หากมีเจตนาไม่ดี) มีสัมภาระไปเก็บหรืออาจจะต้องการซุกซ่อนเพื่อก่อการร้ายไว้ที่ไหนหรือไม่
ในบางครั้งจึงจำเป็นที่จะต้องให้ผู้โดยสารทุกคนลงจากเครื่องบินทั้งหมดโดยนำสัมภาระของตนติดตัวลงไปด้วย
ทั้งนี้เพื่อเป็นการเริ่มต้นการตรวจสอบภายในห้องโดยสารใหม่ทั้งหมด ก่อนที่จะให้ผู้โดยสารกลับขึ้นมาเพื่อออกเดินทางใหม่
การตัดสินใจในแต่ละเที่ยวบินจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในวันนั้น และคำนึงถึงสภาวะตัวชี้วัดเกี่ยวกับภัยคุกคามของเที่ยวบินที่แต่ละสายการบินได้ทำการประเมินเอาไว้ (Flight & Airport Security Threat Level)
4.เครื่องบินดันถอยหลังหรือเคลื่อนที่เพื่อออกเดินทาง ในทางปฏิบัติจะไม่ค่อยมีผู้โดยสารขอปฏิเสธการเดินทางเกิดขึ้น
เพราะเท่ากับมีเรื่องไม่ปกติจึงต้องนำเครื่องบินกลับมาจอดใหม่ และไม่เรียกว่า ปฏิเสธการเดินทาง
แต่เป็นการทำให้เกิดความไม่ราบรื่นในเที่ยวบิน (flight interuption)
และก็ต้องคำนึงถึง security threat level กันใหม่อีกครั้งหนึ่ง (ยุ่งจริง ๆ ครับ)
โดยสรุปคือ
หากผู้โดยสารไม่สบายใจ อึดอัด หรืออะไรก็แล้วแต่ สามารถขอปฏิเสธการเดินทางได้ครับ เพราะสิทธิเป็นของเรา
แต่ดีที่สุดคือ ขอให้ตัดสินใจหรือแจ้งแก่พนักงานของสายการบินก่อนที่จะเข้าไปในเครื่องบิน
ถ้าเครื่องบินเคลื่อนที่แล้ว หมายถึง เริ่มต้นการเดินทาง ปฏิเสธไม่เดินทางไม่ได้แล้วครับ
A Pilot Club
👨✈️ 👩✈️
แอดไลน์นี้ครับ LINE Official @a-pilot
https://line.me/R/ti/p/%40a-pilot
เข้าเป็นสมาชิก A Pilot Club ที่เฟสบุ๊ค
https://www.facebook.com/groups/1938520899797856/
#ความรู้การบิน #aPilotBook #aPilotClub #หนังสือนักบิน #สอบนักบิน #สอบสัมภาษณ์ #นักบินฝึกหัด
#นักบิน #การบินพลเรือน #เรียนบิน #เครื่องบิน #CaptSopon #Sopon #กัปตันโสภณ #apilot